ข้อ 1 ฝ้าคืออะไร?
ตอบ ปัญหาผิวหนังที่เกิดจากเซลล์เม็ดสีใต้ชั้นผิว เม็ดสีเมลานิน ทำงานผิดปกติ มักเกิดกับผู้หญิงวัยกลางคน ลักษณะเป็นรอยสีคล้ำหรือน้ำตาลบริเวณแก้ม โหนกแก้ม หน้าผาก จมูก
ข้อ 2 ประเภทของฝ้าแบ่งได้กี่ชนิด มีอะไรบ้าง?
ตอบ ฝ้ามี 4 ชนิดใหญ่ๆ คือ
- ฝ้าตื้น (Epidermal type) เม็ดสีผิดปกติที่เกิดที่ผิวหนังชั้นบนสุด (ชั้นหนังกำพร้า) ทำให้ฝ้ามีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือดำ และ เห็นเป็นขอบเขตชัดเจน
- ฝ้าลึก (Dermal type) เม็ดสีผิดปกติใต้ผิวชั้นหนังกำพร้า คืออยู่ในชั้นผิวหนังแท้ (ผิวหนังชั้นในใต้หนังกำพร้าอีกที) ฝ้าชนิดนี้มักจะมีสีอ่อนกว่าชนิดฝ้าตื้น โดยจะมีสีน้ำตาลอ่อน สีเทา สีน้ำตาลเทา สีม่วงอมน้ำเงิน มองเห็นขอบเขตได้ยาก บริเวณขอบๆมักมีสีกลืนไปกับผิวหนังปกติ
- ฝ้าผสม (Mixed type) ผสมกันทั้งฝ้าชนิดตื้น และชนิดลึก เป็นชนิดที่พบมากที่สุด
- ฝ้าที่ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าเป็นฝ้าชนิดใด (Indeterminate type) มักพบในผู้ที่สีผิวเข้มมาก หรือ คล้ำมาก เช่น ในชนชาติแอฟริกัน เป็นต้น
ข้อ 3 สาเหตุการเกิด มีอะไรบ้าง?
- กรรมพันธุ์ โดยพบว่าผู้ที่มีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นฝ้าจะมีโอกาสเป็นฝ้าสูงกว่าคนที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติ
- ฮอร์โมน (Hormone) พบว่า ฮอร์โมนเพศหญิงทั้งเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นตัวกระตุ้นให้สร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ดังนั้น ในหญิงตั้งครรภ์จะเกิดฝ้าได้ง่ายขึ้น และจากเหตุผลเดียวกันผู้หญิงจึงเกิดฝ้าได้ง่ายกว่าผู้ชาย
- รังสียูวี (Ultraviolet : UV) มีการวิจัยพบว่า คลื่นรังสีทั้งยูวีเอ (Ultraviolet A) ยูวีบี (Ultraviolet B) และแสงที่ตามองเห็น (Visible light) เหล่านี้ จะเข้าทำลายชั้นผิวหนัง โดยเฉพาะรังสี UVA ที่มีช่วงคลื่นยาวสามารถเข้าไปทำลายผิวในชั้นลึกหรือชั้นหนังแท้ (Dermis) เมื่อรังสียูวีเข้าไปทำลายที่ชั้นผิว ส่งผลให้ร่างกายสร้างเมลานิน ขึ้นมาเพื่อป้องกันรังสียูวี ก่อเกิดผิวหนังบริเวณนั้นหมองคล้ำ ถ้ามีการผลิตเมลานินมากไป จะทำให้ผิวบริเวณนั้นคล้ำไม่สม่ำเสมอเกิดเป็นกระ หรือฝ้าได้
- การขาดสารอาหาร เช่น ร่างกายขาดกรดโฟลิก (Folic) วิตามิน เอ ซี และบี 12 (Vitamin A C B12)
- อาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ผู้ที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษ โรคตับ มีโอกาสเป็นฝ้าสูงกว่าคนทั่วไป
ข้อ 4 แนวทางการรักษาฝ้า ที่นิยมในปัจจุบัน?
- วิธีรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์สลายออก เป็นวิธีที่เห็นผลเร็ว ชัดเจนแต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้เลเซอร์ยังมีหลายเกรดหลายประเภทควรเลือกเลเซอร์ที่จำเพาะแก่การรักษาฝ้าจะดีที่สุด
- การกรอผิวด้วยเกร็ดอัญมณี (Microdermabrasion)เป็นการลอกผิวหน้าในชั้นหนังกำพร้า การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยปรับสภาพผิวชั้นนอกแล้วสร้างเซลล์ผิวใหม่แต่มักไม่ค่อยได้ผลกับฝ้าลึก
- ยากินรักษาฝ้า ควรรักษาภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ ไม่ควรเลือกซื้อยาทานเอง
- ใช้ยาทารักษาฝ้า มักได้ผลดีในฝ้าตื้นมากกว่าฝ้าลึก และควรเลือกยารักษาฝ้าที่มีส่วนประกอบที่เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายจะเห็นผลจากยาทาภายใน 2 เดือน โดยสีของฝ้านั้นจะจางลง ถ้าผู้ป่วยมีการใช้ยาอย่างต่อเนื่องถึง 6 เดือน จะเห็นผลชัดเจนขึ้น ส่วนฝ้าลึกนั้น รักษาค่อนข้างยากด้วยยาทาเพียงลำพัง
- ฉีดยารักษาฝ้า ปัจจุบันมียาฉีดที่ช่วยลดการสร้างเม็ดสี เช่น Tranexamic acid หรือสารที่ช่วยลดอนุมูลอิสระ เป็นการรักษาที่ช่วยกระจายยาไปยังชั้นผิวเฉพาะเจาะจง
ข้อ 5 ข้อควรทำเพื่อป้องกันการเกิดฝ้า?
- หลบเลี่ยงการถูกแสงแดดหรือความร้อนทั้งความแรงและระยะเวลา
- การทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน และเลือกทาอย่างมีคุณภาพ เช่น ดูคุณสมบัติของสารกันแดด UVA UVB UVC
- การหลีกเลี่ยงยาที่กระตุ้นสร้างเม็ดสี
- หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางค์ที่แพ้