กันแดดในชีวิตประจำวันเลือกแบบไหน

เข้าใจรังสี UV แบบง่ายและวิธีเลือกกันแดดที่ถูกต้องในชีวิตประจำวันสไตล์หมอผิวหนัง

ข้อ 1 รู้จักรังสี UV กันก่อน

UV หรือรังสีอัลตราไวโอเลต จริงๆแล้วรังสี UV มี 3 ชนิด คือ UV-A รังสีคลื่นยาว , UV-B รังสีคลื่นสั้น และ UV-C ที่ถูกดูดซึมด้วยชั้นบรรยากาศจึงไม่ตกลงมายังพื้นโลก หมอขอกล่าวถึงเฉพาะ 2 ตัวแรกนะคะ ส่วนความยาวคลื่นไม่ขอเขียนถึงเพราะเราเน้นคุยกันเรื่องเกี่ยวกับผิวค่ะ

UV-B รังสีคลื่นสั้น จะทำให้ผิวหนังแดงเมื่อเกิดผิวไหม้แดด หรือ  sun burn ส่วน  UV-A แม้มีพลังงานต่ำกว่า แต่เป็นรังสีคลื่นยาวจึงแทรกซอนถึงผิวชั้นลึกได้ ทำลายเส้นใยคอลลาเจนให้หดตัว อิลาสตินเสียหายเป็นสาเหตุของร่องรอยลึก ในชีวิตประจำวันเราจะสัมผัสมันโดยไม่รู้ตัวเพราะสามารถทะลุชั้นเมฆและกระจกได้

ข้อ 2 แล้วจะป้องกัน UV เลือกครีมกันแดด SPF อย่างไรดีล่ะ

ไม่มีใครปฏิเสธว่าค่า SPF ยิ่งสูงจะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดีกว่า เป็นเหตุผลที่ผู้ผลิตครีมกันแดดต่างแข่งขันผลิตกันแดดที่มี SPF สูงๆกัน แต่ยิ่งค่า SPF สูงอาจทำให้ทากันแดดกันบางไป ประมาทไม่ทาซ้ำ หรือบางชนิดไม่กันน้ำโดนน้ำชะล้างออกก็เป็นได้ และกันแดดที่มี สูงๆมักจะมีส่วนผสมของน้ำมันมากทำให้เหนียวเหนอะหนะ หน้ามัน ซ้ำร้ายบางคนเสี่ยงต่อการเป็นสิวอีกด้วย

ดังนั้นถ้าหมอแนะนำเกณฑ์การทากันแดด อาจเลือกง่ายๆ ดังนี้

วันที่ต้องออกไปกลางแจ้งถูกแดดนานๆมากๆ ให้ใช้ SPF 30-50 ส่วนวันที่ไม่ถูกแดดมาก หรือพนักงานออฟฟิศในชีวิตประจำวัน แค่ SPF 15-25 ก็เพียงพอแล้วค่ะ

Tips การดูค่า PA (protection grade of UV-A) ให้ดูที่ค่า  + ยิ่งค่าบวกมากยิ่งดี

(+)มีผลในการป้องกัน

(++)ป้องกันได้ดี

 (+++)ป้องกันได้ดีมาก

ข้อ 3 ทากันแดดปริมาณแค่ไหนดี

ค่ามาตรฐานดัชนีกันแดดคำนวณที่ปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่มักจะทา 0.5-1.5 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตรเท่านั้น หากทาบางไปการป้องกันรังสี UV จะได้ผลเพียง 20-50% ของค่า SPF ถ้าจะให้หมอแนะนำการทาซ้ำในปริมาณที่พอดีจะดีกว่าทาครั้งเดียวแต่ทามากหรือน้อยเกินไป หากให้ทาโดยกะประมาณง่ายๆใช้ประมาณ 1 ข้อนิ้วก้อยแล้วเกลี่ยให้ทั่วใบหน้าจะดีที่สุด

ขอแชร์ค่ะ